โลกของความเกลียดชัง

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
2038

ปรากฏการณ์การใช้ความรุนแรงด้วยความเกลียดชังเพียงเพราะความแตกต่างกันด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความคิดเห็น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจแต่มุมมองของตนเอง ไม่สามารถยอมรับได้ว่าไม่มีใครที่เหมือนกันไปหมด หรือไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงตัวตนของตนเอง หรือเปลี่ยนความคิดเพื่อเป็นแบบที่เราต้องการได้ ความรู้สึกเกลียดชังไม่สามารถทำให้มีชีวิตอย่างมีความสุขได้ ยิ่งแสดงออกด้วยความรุนแรงยิ่งทำให้สังคมแปลกแยก และก่อความรุนแรงต่อกันเป็นวัฏจักร

ปรากฏการณ์ในสังคมออนไลน์ มีการใช้คำพูดหรือการแสดงออกใดๆ เพื่อมุ่งโจมตีบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยมุ่งไปที่ลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ซึ่งบางครั้งติดตัวมา อย่างชาติพันธุ์ สีผิว สถานที่เกิด มุ่งให้เกิดความเกลียดชัง เหยียดหยาม หรือลดทอนความมีคุณค่า จนสามารถสร้างการกระทำที่รุนแรงได้โดยไม่ต้องสนใจหรือรับรู้ความเป็นบุคคล การใช้ถ้อยคำที่เหยียดหยามกระจายวงกว้างจากความไม่ตระหนักในการใช้งานสื่อออนไลน์ ส่งต่อข้อความโดยเร็ว ทั้งที่มีความรู้สึกร่วมและส่งทั้งที่ไม่เข้าใจความหมายของการแสดงความเหยียดหยาม  อาจเป็นเพราะคุ้นชินกับความคิดที่มองกลุ่มคนบางกลุ่มด้อยศักดิ์ศรีกว่า

ความรุนแรงเป็นวัฏจักร ยิ่งแสดงออกรุนแรงยิ่งปีนเกลียวความแปลกแยกและรุนแรงมากขึ้น การเติบโตท่ามกลางความรุนแรงเป็นโจทย์ของครอบครัวที่จะช่วยกันสร้างความเข้าใจให้เด็กสามารถเลือก แยกแยะ ไม่รับเอาวัฒนธรรมดูแคลน เหยียดหยาม หรือทนรับฟังความเห็นที่ต่างไปจากความเห็นของตนเองไม่ได้ เครื่องมือที่สามารถลดทอนความรุนแรงลงได้ คือ ความสามารถที่จะรับรู้ความรู้สึกของคนอื่นได้ เป็นความสามารถที่เด็กสามารถเรียนรู้และเข้าใจคนอื่น เด็กสามารถเข้าใจความรู้สึกของบุคคลอื่นตั้งแต่วัยเด็กเล็ก 2-3 ขวบ เด็กสามารถเทียบความรู้สึกของคนอื่น รวมสิ่งอื่นกับความรู้สึกของตัวเอง แม้กระทั่งตุ๊กตาตัวโปรด เด็กจะรู้สึกเหมือนเป็นสิ่งที่มีชีวิต ถ้าพ่อแม่เอาใจใส่ความรู้สึกของเด็กและสอนการเอาใจใส่ความรู้สึกของคนอื่น จะยิ่งช่วยเสริมความสนใจความรู้สึกของคนอื่น รู้สึกได้ว่าคนอื่นก็มีความรู้สึก จะช่วยให้คนเราหยุดการกระทำที่จะทำกับคนอื่นราวกับว่าเขาไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย เพียงเพราะเขาแตกต่างหรือคิดต่างจากเรา

วิธีช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะสนใจความรู้สึกของคนอื่น เริ่มจาก…

  • การแสดงออกของพ่อแม่ การกระทำและคำพูดของพ่อแม่สอนลูก การไม่กล่าวร้าย ดูถูกคนอื่น เมื่อเกิดปัญหาพ่อแม่เลือกการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นแทนที่จะกล่าวหาทันที ปฏิบัติต่อคนในบ้านแม้จะต่างสถานะอย่างเหมาะสม เด็กจะไม่สับสนกับท่าทีของพ่อแม่กับการสอนให้เข้าใจคนอื่น
  • รายการสำหรับเด็กที่ผลิตอย่างระมัดระวัง จะมีการนำเสนอให้เด็กเห็นการอยู่ร่วมกันของคนที่มีความแตกต่างกันด้านชาติพันธุ์ เป็นการเรียนรู้ที่ดีสำหรับเด็กที่จะทำความเข้าใจว่าเราอยู่ร่วมในสังคมที่จะมีความหลากหลาย แม้จะมีความต่างที่สีผิว การแต่งกาย การแสดงออกทางวัฒนธรรม แต่เราไม่แตกต่างกันในการเป็นเพื่อน การยอมรับและยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตด้วยกัน รือพ่อแม่อาจใช้โอกาสในการพูดคุยให้ลูกสังเกตรอบตัวว่าเราอาจมีความแตกต่างกันแต่เราสามารถที่จะรับรู้และยอมรับความแตกต่างได้
  • โรงเรียนเป็นโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องอารมณ์และการใช้ชีวิต เด็กสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การเล่าเรื่อง การรับรู้เรื่องของเพื่อนในบรรยากาศที่ส่งเสริมความเข้าใจ เชื่อมโยงอารมณ์ของตนกับเพื่อน การเรียนรู้เรื่องชีวิตอาจเป็นเรื่องที่โรงเรียนในไทยไม่ค่อยทำมากนัก อาจเป็นเพราะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องที่ใกล้ตัวเด็กน้อยเกินไป ครอบครัวจึงต้องใช้เวลาร่วมกันในหลากหลายประสบการณ์ ให้เด็กได้สัมผัสการเรียนรู้เรื่องชีวิตผ่านการทำกิจกรรม และพ่อแม่ช่วยให้เด็กเข้าใจเรื่องความแตกต่าง ความหลากหลาย เด็กที่เริ่มโตสามารถมีกิจกรรมแบบอาสาสมัคร ทำหน้าที่ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือบุคคลอื่น รวมทั้งไปทำงานในสถานที่ที่จะเข้าใจการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากความสบายในบ้าน
  • สอนเรื่องการใช้งานสื่อตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเฉพาะพัฒนาความสามารถในการควบคุมตนเองในการใช้งาน ไม่ใช้มากเกินไป ใช้อย่างระมัดระวัง เข้าใจเรื่องความไม่เป็นส่วนตัว ทุกการแสดงออกย่อมส่งผลต่อบุคคลอื่น การไม่ใส่ใจ ไม่เคารพกัน ทำให้ตอบสนองอย่างไม่สนใจว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร หรือถือว่าเป็นพื้นที่ปัจเจก ไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดจะรู้สึกอย่างไรจากการแสดงออกของตัวเรา แม้พ่อแม่จะไม่มีความรู้เชิงเทคนิค แต่การปฏิสัมพันธ์กันบนสื่อก็สามารถใช้หลักคิดเดียวกับการใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมนอกไลน์

ที่สำคัญเด็กที่ได้รับการเติมเต็มความเป็นตัวของตัวเอง ได้รับการยอมรับ เต็มอิ่มกับความเป็นตัวตนของตนเองจากภายในครอบครัว พร้อมไปกับการสอนให้เข้าใจคนอื่น มักสามารถแสดงการยอมรับ ไม่กล่าวหา ว่าคนอื่น แต่ถ้าตัวเขาเองขาดความรู้สึกที่ดีกับตนเอง ก็มีโอกาสที่จะส่งต่อความรู้สึกขาดของตัวเอง ไปต่อว่า เหยียดหยามคนอื่น หรือทนฟังความเห็นที่แตกต่างจากตนเองไม่ได้

สังคมไม่จำเป็นต้องพัฒนาด้วยการละเลยความรู้สึกต่อกัน เราทุกคนสามารถสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจความแตกต่างโดยมีพื้นฐานจากครอบครัวที่รักษาความใส่ใจในความรู้สึกที่มีต่อกัน

ภาพประกอบโดย   วาดสุข

 

Resource: HealthToday Magazine, No. 184 August 2016