ไขมันเกาะตับ

ผศ.นพ.เฉลิมรัฐ บัญชรเทวกุล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ

0
3470

เราทุกคนต่างก็รู้ดีว่า “ตับ” เป็นอวัยวะสำคัญที่ร่างกายขาดไม่ได้ เพราะนอกจากจะทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนสารอาหารต่างๆ ที่ถูกดูดซึมจากลำไส้ นำไปเก็บสะสม และส่งไปใช้ตามอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว ตับยังเป็นหน่วยกำจัดสารพิษสารเคมี และเป็นแหล่งผลิตโปรตีนที่สำคัญต่อการแข็งตัวของเลือด ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย สำหรับแนวโน้มของโรคตับในปัจจุบัน ผศ.นพ.เฉลิมรัฐ บัญชรเทวกุล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวไว้ว่า “ปัจจุบันไขมันเกาะตับถือว่าเป็นโรคตับที่พบบ่อยที่สุดในโลก เป็นสาเหตุของตับแข็ง และมะเร็งตับที่สำคัญที่สุดสาเหตุนึง โดยเฉพาะประเทศในแถบอเมริกาและยุโรปซึ่งมีคนอ้วนจำนวนมาก สำหรับในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยแม้ขณะนี้จะมีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าฝรั่ง แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามวิถีการกินอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไปใกล้เคียงประเทศตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีคนอ้วนมากขึ้น” เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนและสร้างความตระหนักรู้ ผศ.นพ.เฉลิมรัฐ บัญชรเทวกุล จึงได้มาเน้นย้ำเรื่องนี้กันอีกครั้ง

ไขมันเกาะตับ

โดยปกติตับของคนเราควรมีไขมันไม่เกิน 20% ของจำนวนเซลล์ตับ หากเกินกว่านี้ถือว่าผิดปกติ แต่การตรวจลักษณะนี้ต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อ สำหรับวิธีการตรวจโดยทั่วไปที่ใช้กันคือการทำอัลตราซาวนด์ ซึ่งหากอัลตราซาวนด์พบตับมีลักษณะขาวกว่าปกติแสดงว่าปริมาณไขมันที่ตับมีมากผิดปกติ การมีไขมันมาสะสมในเซลล์ตับ อาจกระตุ้นให้เซลล์ตับนั้นเกิดการอักเสบ ซึ่งถ้าเกิดต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะทำให้เซลล์ตับเสียหายไปเรื่อยๆ มีพังผืดมาแทนที่ ตับทำงานเสื่อมลง นำไปสู่ภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับในที่สุด อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีไขมันเกาะตับจะต้องเป็นตับอักเสบเรื้อรังและลงท้ายด้วยมะเร็งตับเสมอไป ประมาณ 30% ของผู้ที่มีไขมันเกาะตับเท่านั้นที่เซลล์ตับถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบรุนแรง จนเกิดการตายชองเซลล์ตับและพังผืด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญก็คือ ความอ้วน และโรคเบาหวาน

ไขมันเกาะตับ มี 2 ประเภท คือ ไขมันเกาะตับที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ เกิดจากการดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ยิ่งดื่มมาก ดื่มเป็นประจำ ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงมีโอกาสเกิดไขมันเกาะตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้มากกว่าผู้ชายเนื่องจากร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์ได้มากกว่า น้ำหนักตัวน้อยกว่า ประกอบกับเอนไซม์ที่ทำหน้าที่กำจัดแอลกอฮอล์ทำงานได้ไม่ดีเท่ากับผู้ชาย ผู้หญิงจึงมีความเสี่ยงสูงกว่า ในรายที่ส่งผลต่อตับแล้ว ผู้หญิงก็ยังคงมีแนวโน้มจะเกิดตับแข็งได้เร็วกว่าเช่นกัน ไขมันเกาะตับอีกประเภทหนึ่งคือ ไขมันเกาะตับที่ไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นหัวข้อหลักที่จะกล่าวถึงในวันนี้ ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับความอ้วนและโรคเบาหวาน เปรียบเหมือนไขมันมาสะสมภายนอกที่บริเวณพุง และภายในก็มีการสะสมเพิ่มขึ้นภายในตับด้วย อย่างไรก็ตามก็มีผู้ป่วยส่วนนึงที่อาจเกิดไขมันเกาะตับโดยที่ไม่ได้มีน้ำหนักเกินได้

สัญญาณความเสี่ยง

ไขมันเกาะตับโดยทั่วไปจะไม่มีอาการ แต่จะแสดงอาการ เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง ท้องบวม ขาบวม อ่อนพลีย น้ำหนักลด ก็ต่อเมื่อตับเสื่อมลงมากหรือกลายเป็นตับแข็งแล้ว ยกเว้นในคนอ้วนมากๆ มีไขมันเกาะตับมากๆ อาจมีอาการแน่นบริเวณชายโครงนิดหน่อย แต่พบไม่บ่อยและไม่เฉพาะเจาะจง ดังนั้น อย่ารอจนมีอาการ เพราะถ้าปล่อยให้ถึงขั้นนี้ โอกาสที่จะรักษาให้หายเป็นปกติดังเดิมนั้นเป็นไปได้ยาก สิ่งสำคัญคือ ควรตรวจเช็คสุขภาพตับตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น อ้วนลงพุง (เส้นรอบพุงมากกว่าครึ่งนึงของความสูง) น้ำหนักเกิน เป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นต้น อย่างไรก็ตามการตรวจเลือดเพื่อดูค่าการทำงานของตับ แม้ผลตรวจจะออกมาปกติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้เป็นไขมันเกาะตับ เพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ไขมันเกาะตับมีทั้งแบบที่ทำให้เกิดตับอักเสบ และไม่ทำให้เกิดตับอักเสบ ในกรณีที่ไม่มีการอักเสบ ผลที่ได้จากการตรวจเลือดจึงเป็นปกติ เพราะฉะนั้นหากต้องการทราบให้แน่ชัดว่ามีไขมันเกาะตับหรือไม่ แนะนำให้ตรวจเลือดร่วมกับการทำอัลตราซาวนด์จะชัดเจนที่สุด

ไขมันเกาะตับ ลดได้ เลี่ยงได้

ปัจจุบันแม้จะมีความพยายามจากทั่วโลกในการคิดค้นยาเพื่อรักษาโรคไขมันเกาะตับ แต่ยังไม่มีการคิดค้นใดที่ประสบความสำเร็จสามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ ยาที่มีการยอมรับมีผลการวิจัยยืนยันในปัจจุบัน สามารถเพียงช่วยยับยั้งการอักเสบ และลดไขมันในตับได้บางส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ วิธีที่สามารถรักษาไขมันในตับได้จริงคือ “การลดน้ำหนัก” ซึ่งมีประสิทธิภาพที่สุด โดยต้องลดลงประมาณ 10% ของน้ำหนักตัว เช่น หนัก 80 กิโลกรัม ต้องลดลง 8 กิโลกรัม จึงจะเห็นผลว่าไขมันในตับและการอักเสบลดลงชัดเจน การลดน้ำหนักควรค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักโหม และควรตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่าจะลดลง 10% ภายในระยะเวลากี่เดือน โดยอาจกำหนดไว้ที่เดือนละ 1 กิโลกรัม ซึ่งวิธีลดน้ำหนักที่ดีที่สุดก็คือ การควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กรณีทีผู้ที่มีตับอักเสบรุนแรงจากไขมันเกาะตับ หรือมีพังผืดเกิดขึ้นแล้ว แแพทย์อาจพิจารณาให้ยารักษาการอักเสบของตับร่วมไปด้วยระหว่างที่ผู้ป่วยกำลังพยายามลดน้ำหนัก ซึ่งจะสามารถหยุดยั้งตับอักเสบไขมันเกาะตับได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ได้ผลดีจากการใช้ยา ถ้าผู้ป่วยไม่ลดน้ำหนัก และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การอักเสบของตับจากไขมันก็มักจะกลับเป็นซ้ำหลังหยุดยา

นอกจากนี้เมื่อตรวจพบว่าเป็นไขมันเกาะตับ ผู้ป่วยควรตรวจเช็คโรคร่วมอื่นๆ ด้วย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง เพราะป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ที่มีไขมันเกาะตับ รวมทั้งโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีซึ่งพบบ่อยในคนไทย ในทางกลับกันหากตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคเหล่านี้ก็ควรตรวจเช็คสุขภาพตับด้วยเช่นกัน สำหรับใครที่ยังไม่อ้วนก็ระวังอย่าให้อ้วน รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเลี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้ตับของเราแย่ลง เช่น เหล้า ยาที่ไม่จำเป็นเพราะมีหลายตัวที่ส่งผลต่อตับ รวมทั้งสมุนไพรและอาหารเสริมบางอย่างที่ไม่มีข้อมูลความปลอดภัยแน่ชัด

ผู้ที่เป็นไขมันเกาะตับหลายคนกังวลมากว่าจะต้องเสียชีวิตจากโรคตับ เพราะเชื่อว่าสุดท้ายจะต้องกลายเป็นมะเร็งตับ ในความเป็นจริงมีผู้ป่วยไขมันเกาะตับส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มีจะเกิดตับอักเสบที่รุนแรงและพัฒนาไปจนกระทั่งเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับ หากเราได้รับการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม หมั่นตรวจติดตาม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล แต่ปัญหาที่พบคือเรามักปล่อยปละละเลย ทำให้ตรวจพบโรคตับเมื่อตับเสื่อมสภาพมากแล้ว ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควรดังนั้นการตรวจสุขภาพตับเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 179 March 2016